พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 12 - 18 มีนาคม พ.ศ.2564

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2021 15:28 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 12 - 18 มีนาคม พ.ศ.2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 31/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 12-18 มี.ค. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน / ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางแห่ง ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าปกคลุมบริเวณ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย

คำเตือน ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 12-18 มี.ค. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

  • อากาศร้อนและแห้งในระยะนี้ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาดของเพลี้ยอ่อนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวไว้ด้วย ส่วนเกษตรกรที่ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชรอบใหม่ ควรงดการเผาเศษวัสดุที่เหลือใช้ แต่ควรใช้วิธีไถกลบแทน เพราะการเผาอาจลุกลามจนเกิดเป็นอัคคีภัยได้ นอกจากนี้ควันไฟยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งเป็นอุปสรรค์ต่อการใช้รถใช้ถนน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 12-14 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 15-18 มี.ค. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานของแสงแดด 6-9 ชั่วโมง

  • จากสภาพที่อากาศร้อนและแห้งในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืช รวมทั้งวางแผนการให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โค สุกร และไก่ เป็นต้น ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันสัตว์เครียดจนเจ็บป่วยได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 12-18 มี.ค. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 6-9 ชั่วโมง

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนและเพลี้ยในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ใบและยอดอ่อนเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด จนอ่อนแอ และเจ็บป่วยได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 12-18 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง

  • จากสภาวะอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยดูแลบริเวณพื้นที่เพาะปลูกให้โล่งเตียน และไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเปลือกและผลที่เน่าเสียร่วงหล่นไว้ภายในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

  • อากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนได้ในบางพื้นที่เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราแป้งในเงาะ ซึ่งอยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน นอกจากนี้เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะชาวสวนยางพารา ควรทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 5-11 มีนาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยในระยะครึ่งหลังของช่วงบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเกือบตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือในระยะครึ่งแรกของช่วง ส่วนในระยะครึ่งหลังหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเกือบตลอดช่วงและมีลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ สำหรับภาคใต้ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนในบางพื้นที่

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วงและปลายช่วง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 5 มี.ค. และจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 8 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-55 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ในวันที่ 5 มี.ค. บริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 5-7 มี.ค. บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 5 และ 7 มี.ค. บริเวณจังหวัดเลย สกลนคร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร บุรีรัมย์ นครราชสีมาและอุบลราชธานีในวันที่ 7 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 5 และ 9 มี.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 7 และ 9 มี.ค. บริเวณจังหวัดชัยนาท สระบุรี และสุพรรณบุรีในวันที่ 8 มี.ค. บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีและกาญจนบุรีในวันที่ 9 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 10 มี.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 5 มี.ค. บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 7 มี.ค. บริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 8 มี.ค. บริเวณจังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราดในวันที่ 10 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วงและในวันสุดท้ายของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 6 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วงและในวันที่ 10 มี.ค.

ช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเลย ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ