พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday March 15, 2021 15:23 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 32/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15-20 มี.ค. ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย หลังจากนั้นในวันที่ 21 มี.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และจะมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 15-20 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากสภาพอากาศร้อน ในวันที่ 21 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15-20 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในวันที่ 21 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสมและวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15-19 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-21 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เช่น ดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือฉีดน้ำลงบนหลังคาโรงเรือน นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15-20 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในวันที่ 21 มี.ค. อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคใบขาวในอ้อยระยะเริ่มปลูก-แตกกอ สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเลือกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15-19 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20-21 มี.ค. อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันเพลี้ยไฟพริกในมะม่วงระยะออกช่อดอก-พัฒนาผล ส่วนในช่วงวันที่ 20-21 มี.ค. ควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 15-20 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง หลังจากนั้นในวันที่ 21 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลและพืชผัก เช่น แมลงวันทองในพริก นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืช ดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 8-14 มีนาคม 2564 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนส่วนมากบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และตอนบนของภาคตะวันออก อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ สำหรับภาคใต้ลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนบางพื้นที่ในบางวัน

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 8, 11 และ 12 มี.ค. และบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 12 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะกลางและปลายสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ หลังจากนั้นมีฝนบางพื้นที่ในบางวัน กับมีฝนหนักบางพื้นที่ของจังหวัดเลยในวันที่ 13 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 9 มี.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาท สระบุรี และสุพรรณบุรีในวันที่ 8 มี.ค. และบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี และกาญจนบุรีในวันที่ 9 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันที่ 10 มี.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 8 มี.ค. บริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราดในวันที่ 10 มี.ค. บริเวณจังหวัดชลบุรีและระยองในวันที่ 12 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ในระยะกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ในวันที่ 10, 12 และ 13 มี.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เลย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ