พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday March 26, 2021 15:14 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 37/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง กับมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันตลอดช่วง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 27 - 29 มี.ค. 64 คลื่นกระแสลม ฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 28 - 31 มี.ค. 64 เนื่องจากมีลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามันทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน สำหรับในช่วงวันที่ 27 - 29 มี.ค. บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 27 - 28 มี.ค. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตอนบนของภาคอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน เช่น ติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศภายในโรงเรือน และ ฉีดน้ำลงบนหลังคาโรงเรือน เป็นต้น สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยโดยหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และ หญ้าแห้ง เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 27 - 29 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ช่วงนี้จะมีอากาศร้อนและมีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อป้องกันผิวไหม้และร่างกายขาดน้ำ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน เช่น นำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปไว้ในโรงเรือน และติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศภายในโรงเรือน เป็นต้น สำหรับช่วงนี้อากาศแห้งประกอบกับความชื้นในดินมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางด้านการเกษตรเพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 27 - 28 มี.ค. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและ ด้อยคุณภาพ สำหรับระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำอย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง ส่วนเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเลือกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 27 - 28 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในระยะนี้ ควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 26 - 27 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 26 - 27 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 1 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ช่วงนี้น้ำระเหยมีมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับระยะนี้ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลและพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้วมีกำลังอ่อนลง โดยในวันสุดท้ายของช่วงหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกในวันที่ 19, 23 และ 25 มี.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคกลางในระยะครึ่งแรกของช่วงและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ในวันสุดท้ายของช่วง โดยมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงหลายพื้นที่และเกิดลูกเห็บตกในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากในระยะกลางช่วง สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ซึ่งมีกำลังปานกลางในระยะกลางและปลายช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักบางแห่งในระยะดังกล่าว

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดช่วงกับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก และเพชรบูรณ์มีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ในวันที่ 21, 22, 24 และ 25 มี.ค. โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพะเยาในวันที่ 20 มี.ค. บริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และตากในวันที่ 21 มี.ค. บริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 21 และ 25 มี.ค. บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 21 - 24 มี.ค. และบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 มี.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 22 มี.ค. และบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 22 และ 24 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะปลายช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง เว้นแต่ในวันที่ 21 มี.ค. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม มุกดาหาร และชัยภูมิในวันที่ 20 มี.ค. บริเวณจังหวัดบึงกาฬ อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู หนองคาย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีในวันที่ 21 มี.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ นครราชสีมา และขอนแก่นในวันที่ 20 มี.ค. และบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 21 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วงกับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ในวันที่ 21 - 22 มี.ค. กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝน ฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดราชบุรีในวันที่ 22 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 21 มี.ค. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 21, 22 และ 25 มี.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 22 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีอากาศร้อนบางพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 15- 60 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 23 - 24 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 15- 50 ของพื้นที่ในระยะกลางและ ปลายช่วง เว้นแต่ในวันที่ 24 มี.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

ช่วงที่ผ่านมาไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เลย สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว ระยอง ตราด สงขลา นราธิวาส และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ