พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2021 15:26 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 38/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเล จีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางพื้นที่ ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงตอนล่างจะเคลื่อนเข้ามาบริเวณทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 โดยมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกเป็นบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุมทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น ภาคใต้ฝั่งตะวันตกฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนเกษตรกรควรรักษาสุขภาพไว้ด้วย ส่วนภาคใต้ทางฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และอาคารบ้านเรือน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องติดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน สำหรับน้ำที่ระเหยมากในระยะนี้ เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน อนึ่ง ช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. จะมีพายุฤดูร้อน ผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้วเกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว ไม่ควรปล่อยไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย.64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้น้ำระเหยมีมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำ รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับอุณหภูมิที่สูงในระยะนี้ เกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โดยอาจติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศในแนวตั้งหรือแนวนอน หรืออาจนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปไว้ในโรงเรือน เป็นต้น รวมทั้งควรเพิ่มปริมาณน้ำกินสำหรับสัตว์ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. จะมีพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 อากาศร้อน กับมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินรักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. จะมีพายุฤดูร้อน เกษตรกรไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 อากาศร้อน กับมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยในระยะนี้ เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. จะมีพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก และต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องติดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชเหี่ยวเฉา รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. ภาคใต้ทางฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22-28 มีนาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้วมีกำลังอ่อนลงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมส่วนมากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ จากนั้นมีหย่อมความเกือบตลอดสัปดาห์บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนส่วนมากในวันแรกและในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยซึ่งมีกำลังปานกลางเกือบตลอดสัปดาห์ ทำให้มีฝนเกือบตลอดสัปดาห์กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดลำปาง ตาก และเพชรบูรณ์มีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-35 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 26 มี.ค. โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 25, 26 และ 28 มี.ค. บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 22 - 24 มี.ค. บริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 และ 26 มี.ค. บริเวณจังหวัดพะเยา ตาก และลำปางในวันที่ 26 มี.ค. บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์วันที่ 27 มี.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 22 มี.ค. บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 22 และ 24 มี.ค. บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ 25 มี.ค. บริเวณจังหวัดลำพูนและแพร่ในวันที่ 26 มี.ค. และบริเวณจังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 28 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันแรกและในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเลยและชัยภูมิในวันที่ 27 มี.ค. บริเวณจังหวัดสกลนครและหนองคายในวันที่ 28 มี.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 27 มี.ค. และบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 28 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ในวันแรกและระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดราชบุรีในวันที่ 22 มี.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 28 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ในวันที่ 22, 25, 27 และ 28 มี.ค. กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 22 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 15-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 24 มี.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 50-85 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 24 และ 28 มี.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ น่าน หนองคาย อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ตราด พัทลุง ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ