พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน พ.ศ.2564
ออกประกาศวันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 39/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเป็นบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะเริ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ส่วนภาคใต้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
คำเตือนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นลมแรง ขอให้ชาวเรือและชาวประมงเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง
- ระยะนี้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันอัคคีภัย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะมีลมแรง สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว ควรรีบเก็บเกี่ยว รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง
- ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืช และใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรตลอดช่วงแล้ง จากนั้นในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยง เช่น โค และกระบือ เป็นต้น ไม่ควรปล่อยไว้กลางแจ้ง ขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 4-8 ชั่วโมง
- มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ สำหรับเกษตรกรที่ต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ ควรหลีกเลี่ยงการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แต่ใช้วิธีไถกลบแทน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย.จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะมีฝนฟ้าคะนอง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง
- ในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย.จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะไม้ผลควรผูกยึดค้ำยันกิ่งและลำต้นให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งไม้ผลฉีกหัก ลำต้นโค่นล้ม ขณะลมแรง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินในบริเวณใกล้เคียงไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนน็อคน้ำและตายได้ รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ในวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 เม.ย. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 4-7 ชั่วโมง
ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานของแสงแดด 4-7 ชั่วโมง
- ระยะนี้มีฝนตกสลับกับอากาศร้อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวน ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวไว้ด้วย อนึ่งในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ระหว่างวันที่ 24-30 มีนาคม 2564 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ น่าน หนองคาย อุดรธานี กาญจนบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี พัทลุง ปัตตานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา