พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 12 - 18 เมษายน พ.ศ.2564

ข่าวทั่วไป Monday April 12, 2021 14:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 12 - 18 เมษายน พ.ศ.2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 44/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน / ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-8 ชั่วโมง

  • ระยะนี้อากาศร้อนสลับกับมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้ง ขณะมีฝนฟ้าคะนอง เพราะสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16-18 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 4-7 ชั่วโมง

  • อากาศร้อนสลับกับมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนและเพลี้ยในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรสำรวจซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนอย่าให้มีรอยรั่วซึม เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เปียกฝน จนทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 18 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานของแสงแดด 4-7 ชั่วโมง

  • อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวสวนผลไม้ ควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ลำต้นโค่นล้ม ขณะมีลมแรง ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อคลุกเคล้าน้ำฝนกับน้ำในบ่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-8 ชั่วโมง

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-7 ชั่วโมง

  • มีฝนตกเป็นระยะๆ ตลอดช่วง แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวน ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อคลุกเคล้าน้ำฝนกับน้ำในบ่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 5-11 เมษายน 2564 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะกลางสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนกับมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคเหนือในระยะต้นสัปดาห์ โดยในระยะปลายสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนตกหนาแน่นในระยะต้นสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงและมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นลมฝ่ายตะวันออกที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในระยะปลายสัปดาห์ ทำให้มีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-45 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 5 และ 11 เม.ย. บริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร และพิจิตรในวันที่ 6 เม.ย. บริเวณจังหวัดลำปาง แพร่ และเพชรบูรณ์ในวันที่ 9 เม.ย. และบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ 10 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 6 เม.ย. บริเวณจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 8 เม.ย. บริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 8 และ 9 เม.ย. และบริเวณจังหวัดขอนแก่นและยโสธรในวันที่ 9 เม.ย. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 6 เม.ย. บริเวณจังหวัดอุทัยธานีและสระบุรีในวันที่ 9 เม.ย. บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีในวันที่ 9 และ 11 เม.ย. บริเวณจังหวัดอ่างทองในวันที่ 10 เม.ย. และบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 11 เม.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนส่วนมากทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 และ 7 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 6 เม.ย. และบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 8 เม.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ในวันที่ 6 และ 7 เม.ย. ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 6 เม.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก พิษณุโลก ชัยนาท ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และระนอง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ