พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday May 24, 2021 15:09 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 62/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24 - 28 พ.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณบริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 - 30 พ.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนล่าง มีฝนลดลง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย มีกำลังแรง ตลอดช่วง ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งเป็นด้านรับมรสุมดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็ก บริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70 -80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้เปลือกผลไม้และผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝนหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 28 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนวันที่ 29 - 30 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสะสมในแปลงปลูก เป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งควรดูแลแปลงปลูกพืชให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าว ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 30 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืชเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ในช่วงฤดูฝนแมลงต่างๆและศัตรูสัตว์ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยงทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 30 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรกองเปลือกผลไม้และผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียไว้ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดโดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 25 - 26 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 27 - 30 พ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนตกชุกโดยทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝน กับมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 20 และ 22 พ.ค. โดยมีอากาศร้อนทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำพูน และอุตรดิตถ์เกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตากในวันที่ 17 พ.ค. จังหวัดลำปางในวันที่ 17 และ 19 พ.ค. จังหวัดพะเยาในวันที่ 17, 19, 20 และ 21 พ.ค. จังหวัดลำพูนในวันที่ 17 และ 20 พ.ค. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 17, 20 และ 21 พ.ค. จังหวัดพิจิตรในวันที่ 18 พ.ค. จังหวัดน่านในวันที่ 18-19 พ.ค. และจังหวัดเชียงรายในวันที่ 19 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 17 พ.ค. จังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 17-18 พ.ค. จังหวัดอำนาจเจริญ มหาสารคาม และอุบลราชธานีในวันที่ 18 พ.ค. และจังหวัดเลยในวันที่ 18 และ 21 พ.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 18, 19 และ 21 พ.ค. โดยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันที่ 18-19 พ.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 18-21 พ.ค. โดยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชก แรงบริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 18 พ.ค. และจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 19 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 19, 21 และ 22 พ.ค. มีฝนร้อยละ 65-85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ และมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 19 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 21 พ.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสตูลในวันที่ 19 พ.ค. และจังหวัดระนองในวันที่ 21 พ.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ กรุงเทพมหานคร สงขลา นราธิวาส และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย น่าน เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ