พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 65/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อน โดยบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 มิ.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 1 - 4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อน สลับกับมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง นอกจากนี้ควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับ ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในช่วงนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก บางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 50-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อน สลับกับมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาและเปิดพัดลมระบายความร้อนภายในโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ ป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสและมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ ทำให้ใบด่างหงิกงอ ลำต้นแคระแกร็น และไม่สร้างหัว
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 50-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อน สลับกับมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาและเปิดพัดลมระบายความร้อนภายในโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ ป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ในช่วงฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าว จะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนควรระวังและป้องกัน โรครากเน่าโคนเน่า ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับช่วงแรกของสัปดาห์ที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงัก การเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับช่วงหลังของสัปดาห์จะมีฝนเพิ่มขึ้น ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น อนึ่งในช่วงวันที่ 4-6 มิ.ย.บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ระหว่างวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงในระยะต้นและกลางสัปดาห์จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นและกลางสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์และลำปางในวันแรกของสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกในวันที่ 24 พ.ค. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยาในวันที่ 28 พ.ค. และจังหวัดตากในวันที่ 29 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ส่วนมากในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และชัยภูมิในวันที่ 24 พ.ค. จังหวัดนครพนมในวันที่ 24 และ 27 พ.ค. และจังหวัดอุดรธานีและนครราชสีมาในวันที่ 25 พ.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 24, 26 และ 30 พ.ค. มีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ โดยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสระบุรีในวันที่ 24 พ.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยยังคงมีอากาศร้อนบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 25 พ.ค. จังหวัดตราดในวันที่ 27 พ.ค. และจังหวัดชลบุรีในวันที่ 28 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24, 27 และ 29 พ.ค. มีฝนร้อยละ 20-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยยังคงมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 25 และ 27 พ.ค. และจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 26 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24 และ 29 พ.ค. มีฝนร้อยละ 25-35 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระนอง ภูเก็ต และพังงาในวันที่ 25 พ.ค.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพิษณุโลก เลย หนองคาย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และตรัง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา