พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 21 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday June 21, 2021 14:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 21 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 74/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อยโดยเฉพาะปลายเดือนนี้และต้นเดือนหน้า ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่ร่วงหล่นและเน่าเสียไว้ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดโดยเผาหรือฝังให้ลึกนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนในช่วงฤดูฝน แมลงและศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์อาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้ สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในระยะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนนี้และต้นเดือนหน้า

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงัก การเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผลแล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา โรคใบจุดสนิมในกาแฟ เป็นต้น สำหรับทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย.บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณ ที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุพายุโซนร้อน "โคะงุมะ (KOGUMA, 2104)" ปกคลุมบริเวณตอนบนของภาคเหนือในวันแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลางในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์จากนั้นอ่อนกำลังลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนตกหนาแน่นในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นในระยะต้นและปลายสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดตากในวันที่ 16 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14, 16 และ 17 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 50-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่ง ในระยะต้นสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 15 มิ.ย. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 70-95 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์มีฝนร้อยละ 30-45 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 16 และ 17 มิ.ย. และบริเวณจังหวัดปัตตานีในวันที่ 17 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนัก บางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณจังหวัด เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก สุโขทัย หนองคาย อุดรธานี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ