พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday June 25, 2021 14:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 76/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน

ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย อย่างต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง คำเตือน ในช่วงวันที่ 25-28 มิ.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชผัก เช่น กะหล่ำปลี คะน้า และพริก สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ควรรักษาบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้สะอาด ดูแลพื้นที่ให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ เช่น ข้าวโพดและอ้อย สำหรับในพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล เช่น ทุเรียน ลองกอง และมังคุด นอกจากนี้ควรเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 26 - 27 มิ.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 25-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดช่วง โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนในวันสุดท้ายของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนบางพื้นที่ถึงกระจายเกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนาแน่นในระยะครึ่งหลังของช่วง

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 15-25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 23 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 35 ของพื้นที่ นอกจากนี้บริเวณบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย น่าน ลำปาง สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์และพิจิตรไม่มีรายงานฝนตกเลยตลอดช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง ต่อจากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 65-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะปลายช่วง กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู สุรินทร์ และร้อยเอ็ดในวันที่ 23 มิ.ย. นอกจากนี้มีบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษที่ไม่มีรายงานฝนตกเลยตลอดช่วง

ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 21 และ 24 มิ.ย. นอกจากนี้มีบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีไม่มีรายงานฝนตกเลยตลอดช่วง ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 19-20 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีบริเวณอำเภอเมืองและอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วที่ไม่มีรายงานฝนตกเลยตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 20 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักบางพื้นที่ในวันที่ 20 มิ.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 23 มิ.ย. นอกจากนี้มีบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีไม่มีรายงานฝนตกเลยตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่า ร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18 และ 21 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 25-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะปลายช่วง

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัด นครพนม มุกดาหาร สงขลา พังงา และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ