พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 85/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนสะสมต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าเละในผักที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดจุดฉ่ำน้ำเล็กๆบนใบหรือลำต้น ลุกลามทำให้เนื้อเยื่อพืชบริเวณนั้นยุบตัวลง มีเมือกเยิ้มออกมาและมีกลิ่นเหม็น ต้นพืชเน่าและตาย ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถเข้าทำลายได้ ทุกส่วนของพืชทั้งที่อยู่ในแปลงปลูกและในโรงเก็บ ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพดและหนอนเจาะฝักข้าวโพด โดยเฉพาะหนอนเจาะฝักข้าวโพด มักระบาดในระยะออกดอกและติดฝัก โดยหนอนดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่เป็นช่อดอกและปลายฝัก ทำให้ผลผลิตเสียหาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงฤดูฝน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของ เห็บโค แมลงวันคอก เหลือบ และยุง ซึ่งสัตว์ดังกล่าวจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูนี้ ทำให้สัตว์ล้มป่วย ชะงักการเจริญเติบโต และยังเป็นพาหะของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคลัมปีสกิน ที่กำลังระบาดในโคและกระบือ โดยจะมีตุ่มเนื้อขึ้นบนผิวหนังทั่วตัวสัตว์ ต่อมาจะแตก ตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม เป็นสาเหตุทำให้สัตว์ล้มตาย ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. และในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นประกอบกับมีฝนตกติดต่อกันในช่วงนี้ เกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าเละ ซึ่งมักพบเป็นจุดช้ำๆที่หน่ออ่อน ลุกลามจนใบและลำต้นเน่า เปื่อยยุ่ยและตาย ทั้งต้น ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนเจาะดอกในมะลิ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินดอกตูมของมะลิ ทำให้ดอกเสียหาย สำหรับต้นที่ยังไม่ออกดอก หนอนดังกล่าวจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวัง ความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนควรระวังและป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. จะมีฝนตกหนัก บางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 -95 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกด้วง เช่น ด้วงงวงและด้วงแรด ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะทำลายยอดอ่อนและวางไข่ โดยตัวอ่อนจะเจาะกินและชอนไช ทำให้ลำต้นเน่าใน ต้นเฉาแคระแกรน ยอดหักพับและตายในที่สุด
ระหว่างวันที่ 9 - 15 กรกฎาคม 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงในระยะดังกล่าว โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลางในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่และมีรายงานน้ำท่วมในบางพื้นที่
ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12-14 ก.ค. มีฝนร้อยละ 10-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 10 ก.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 11 ก.ค. และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 14 ก.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 9 ก.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ 10 ก.ค. และจังหวัดพิจิตรในวันที่ 11 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 50-70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 9, 13 และ 14 ก.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 14 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยภูมิและหนองบัวลำภูในวันที่ 14 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12-13 ก.ค. มีฝนร้อยละ 25-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 10 และ 15 ก.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 10 ก.ค. และจังหวัดสระบุรีในวันที่ 14 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12-13 ก.ค. มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นและปลายช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 50-75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปัตตานีในวันที่ 12 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12-13 ก.ค. มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 10 ก.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกระบี่ในวันที่ 9 ก.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มบริเวณจังหวัดระนองและตรังในวันที่ 10 ก.ค.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก หนองคาย สกลนคร ชัยภูมิ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ นครนายก ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ภูเก็ต และกระบี่
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา