พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 2021 15:46 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 86/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อน โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกทำให้อากาศและดินมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราน้ำค้างในพืชไร่ และโรคเน่าในพืชผัก เป็นต้น โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบควรรีบกำจัดเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่น สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผล ที่ร่วงหล่น เน่าเสีย และเปลือกผลไม้กองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช แต่ควร นำไปกำจัดนอกแปลงปลูก โดยเผาหรือฝังให้ลึก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันสัตว์ศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโตและเป็นโรคได้ เนื่องจากศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ ดูดเลือด เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไร เป็นต้น สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้อาจทำให้บางพื้นที่มีน้ำขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.

  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลซ่อมแซมโรงเรือนให้แข็งแรง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังคาอย่าให้รั่วซึมแผงกำบังฝนสาดสามารถใช้งานได้ตามปกติ พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง แต่ควรมีบ่อพักก่อน เพื่อป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกทำให้อากาศและดินมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบควรรีบกำจัดเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่น สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่ร่วงหล่น เน่าเสีย และเปลือกผลไม้กองอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดนอกแปลงปลูก โดยเผาหรือฝังให้ลึกเพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20 - 23 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 -90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว พื้นที่ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่เจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช และเจาะผลทำให้ผลผลิตเสียหายได้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19 - 23 ก.ค.บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตลอดสัปดาห์ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลางในวันที่ 13-15 ก.ค. จากนั้นมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 ก.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 14 และ 15 ก.ค. และจังหวัดตากในวันที่ 15 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพะเยาในวันที่ 15 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 35-70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 13 และ 14 ก.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 14 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยภูมิและหนองบัวลำภูในวันที่ 14 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12, 13 และ 16 ก.ค. มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 15 ก.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสระบุรีในวันที่ 14 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปัตตานีในวันที่ 12 และ 15 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14-15 ก.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย ชัยภูมิ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี กรุงเทพมหานคร สระแก้ว จันทบุรี ตราด และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และพังงา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ