พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 6 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 94/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 6 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 12 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเล อันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวและเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10 - 12 ส.ค. 64 ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือน วันที่ 6 ส.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 6 ส.ค.64
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกชุก กับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนชาวนาควรป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาและจับหอยไปทำลาย เพื่อไม่ให้หอยเข้าในแปลงนา แพร่พันธุ์และกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ พืชสวน และไม้ดอก เป็นต้น เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ โรคดอกเน่าในดาวเรือง เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 6 - 9 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 12 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในข้าวนาปีและพืชไร่ เช่น โรคไหม้ในข้าวนาปี โรคแอนแทรคโนสในมันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย ในช่วงฤดูฝนแมลงและศัตรูสัตว์ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร ต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโตและอ่อนแอ และอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 7 - 12 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดเตรียมระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันน้ำท่วมแปลงปลูกพืช ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรจัดเตรียมพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงเอาไว้สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยง รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อม ส่วนในช่วงฤดูฝนแมลงต่างๆจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรติดตั้งหลอดไฟเหนือพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อล่อแมลงตัวเต็มวัยให้มาเล่นแสงไฟตอนกลางคืนและตกลงไปในพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาหารเสริมของสัตว์น้ำได้
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 7- 12 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.
- ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในวันที่ 6 ส.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 7- 12 ส.ค. 64ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง วันที่ 6 ส.ค. 64 ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 7 - 12 ส.ค. 64 ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง ในวันที่ 6 ส.ค. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงเกือบตลอดช่วง ประกอบกับร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาว และประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 2 ส.ค. ต่อจากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวได้ทวีกำลังแรงขึ้นตามลำดับโดยเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันที่ 3 ส.ค. และ เป็นพายุโซนร้อน "ลูปิต (LUPIT (2109))" ในช่วงเช้าของวันที่ 4 ส.ค. โดยพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างช้า ๆ มุ่งสู่เกาะไต้หวัน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นตลอดช่วง
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 40-75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3 ส.ค. มีฝนร้อยละ 85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและกลางช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 30 ก.ค. กับบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 2 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วงกับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 3 และ 5 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 1 ส.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 2 ส.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 1, 4 และ 5 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 30 ก.ค. และ 4 ส.ค. มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปัตตานีในวันที่ 1 ส.ค. และจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 1 และ 3 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 31 ก.ค. และ 2 ส.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 30 ก.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 2 ส.ค.
ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดระนอง และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย น่าน ตาก พิษณุโลก นครพนม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชุมพร พัทลุง สงขลา พังงา กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา