พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 11 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 96/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 12-13 และ 17 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบไหม้ โรคผลเน่า และโรคราน้ำฝน ในลำไย รวมทั้งควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายสะสม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-13 และ 17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 12-13 และ 17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบติดและโรคใบไหม้ในทุเรียน รวมทั้งหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคควรตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 11-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง นอกจากนี้ควรระวังด้วงแรดและด้วงงวงในมะพร้าว และควรเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ระหว่างวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2564 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี นราธิวาส และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร นครนายก สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา