พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday August 16, 2021 15:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 99/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17 - 18 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และ อ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 19 - 22 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีลม ฝ่ายตะวันออกพัดเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบนทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 19 - 22 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับระยะนี้ทะเลอันดามันโดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นลมแรงชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลไม้ที่ร่วงหล่นเน่าเสียอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ หลังคาไม่รั่วซึมแผงกำบังฝนอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝนหนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่ เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียในพืชไร่ พืชผัก และข้าวนาปี เช่น โรคไหม้ในข้าว โรคเน่าเปียกในพริก และโรคเน่าในผัก เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรระวังป้องกันศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยงซึ่งจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตก ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16 - 19 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกัน และเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 16 - 18 ส.ค. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุกโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรค ราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันโดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นในระยะกลางและปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 11 ส.ค. และจังหวัดเชียงรายในวันที่ 11 และ 14 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 9, 10 และ 12 ส.ค. มีฝนร้อยละ 20-50ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 12 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 9, 10 และ 12 ส.ค. มีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11, 14 และ 15 ส.ค. มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 11 และ 14 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-55 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ ต่อจากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 13 ส.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 10 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 11 ส.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก จันทบุรี นราธิวาส ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ