พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday August 20, 2021 15:52 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 101/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนบางแห่ง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะในที่ในช่วงวันที่ 25-26 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบไหม้ โรคผลเน่า และโรคราน้ำฝน ในลำไย รวมทั้งควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายสะสม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบติดและโรคใบไหม้ในทุเรียน รวมทั้งหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคควรตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง นอกจากนี้ควรระวังด้วงแรดและด้วงงวงในมะพร้าว และควรเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13 - 19 สิงหาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะดังกล่าว โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนในระยะครึ่งหลังของช่วง นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตลอดช่วงโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 14 และ 16 ส.ค. และจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 15 ส.ค. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 16 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 80-90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วงกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วงกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 20-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14 และ 15 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่บริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 14 ส.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 18 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 70-85 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรก ของช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 13 และ 17 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 17 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครพนม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ภูเก็ต และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ