พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 23 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 103/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 23 - 24 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 23 - 24 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคราน้ำฝนในลำไย ซึ่งลำไยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตจะทำให้ใบอ่อนและยอดอ่อนมีอาการไหม้เป็นสีน้ำตาลจนแห้งตาย ส่วนลำไยที่อยู่ในระยะให้ผลผลิตจะทำให้เปลือกและขั้วผลเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ถ้ามีฝนตกชุกติดต่อกันจะเห็นเป็นเส้นใยสีขาวขึ้นฟูคลุมผล จนผลเน่า แตกและหลุดร่วง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 23 - 24 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าเปียกหรือโรคราขนแมวในพริก ซึ่งเกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อนและกิ่งอ่อน จะทำให้กิ่งแห้งหักพับ หากรุนแรงใบและดอกจะร่วงจนเหลือแต่ก้าน และพริกจะไม่แตกยอดใหม่ ถ้าอากาศมีความชื้นสูง จะเห็นส่วนของเชื้อราที่มีลักษณะเป็นก้านใสคล้ายขนแมว ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 23 - 24 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นประกอบกับฝนที่ตกในช่วงนี้ สำหรับดาวเรืองที่อยู่ในระยะออกดอกเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคดอกเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อรา โดยโรคดังกล่าวจะทำให้กลีบดอกมีสีน้ำตาลเริ่มจากปลายกลีบไปหาโคนดอก หากเชื้อเข้าทำลายในระยะดอกตูมจะทำให้ดอกไม่บาน ซึ่งโรคดังกล่าวหากลุกลามมาสู่ต้นจะทำให้ต้นตาย ส่วนถั่วเหลืองที่อยู่ในระยะปลูกใหม่ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนโดยเฉพาะหนอนม้วนใบ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด แล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นจนกระจายไปทั่วทั้งแปลง ซึ่งโรคนี้มักเกิดในช่วงที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 23 - 24 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 29 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบติดในทุเรียน ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบแห้งไหม้ ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยยึดใบให้ติดกัน โดยใบที่เป็นโรคจะแห้งติดอยู่กับกิ่ง ก่อนหลุดร่วงไปจนเหลือแต่กิ่ง เกษตรกรควรหมั่นตรวจต้นพืชสม่ำเสมอ หากพบโรคดังกล่าวควรตัดส่วนที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูกและพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 25-29 ส.ค.จะมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 25-29 ส.ค.จะมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกด้วง เช่น ด้วงงวงและด้วงแรด ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะทำลายยอดอ่อนและวางไข่ โดยตัวอ่อนจะเจาะกินและชอนไช ทำให้ลำต้นเน่าใน ต้นเฉาแคระแกรน ยอดหักพับและตายได้
ระหว่างวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันแรกของสัปดาห์ โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียในระยะกลางสัปดาห์ และมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันที่ 21 ส.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลงจากสัปดาห์ก่อน ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนหนาแน่นส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 35-80 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 15-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดแพร่ในวันที่ 19 ส.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 16 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 45 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 19 ส.ค. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสิงห์บุรีในวันที่ 20 ส.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดตราดในวันที่ 20 ส.ค. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 18 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 85 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 20-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 17 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 17 และ 21 ส.ค. และบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 20 และ 22 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 17-19 ส.ค.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดแพร่ อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ตราด นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา