พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 3 - 9 กันยายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday September 3, 2021 16:06 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 3 - 9 กันยายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 107/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 3 - 6 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรคใบจุดสีดำและโรคราน้ำค้างในกุหลาบ โรครากเน่าโคนเน่าในลำไยและลิ้นจี่ เป็นต้น โดยหากพบต้นที่เป็นโรคควรตัดและเก็บกวาดส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูกและทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาและจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยดังกล่าวเข้าในแปลงนาและแพร่พันธุ์กัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 5 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าดำและ โรคแอนแทรกโนสในกล้วยไม้ โรครากเน่าโคนเน่าในส้มโอ เป็นต้น โดยตัดส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูกและทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกอย่าให้ตื้นเขินและติดขัด เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกและโคนต้นพืชเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นพืชตายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกันอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรเฝ้าระวังระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบติดในทุเรียน โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบดูแลรักษาเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักอาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้า กรีดยาง และโรคราสีชมพูในยางพารา โรคยอดเน่า โรคทะลายเน่า และโรคต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน ตลอดจนโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียไว้ในสวน แต่ควรนำไปกำจัดนอกแปลงปลูกโดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 2 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะต้นและกลางช่วง โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและทะเลจีนใต้ตอนล่าง ต่อจากนั้นร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือมีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 28 ส.ค. และ 1 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 29 ส.ค. และ 1 ก.ย. จังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 30 ส.ค. และจังหวัดตากในวันที่ 30 ส.ค. และ 1 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 30 ส.ค. และ 1 ก.ย. มีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 28, 31 ส.ค. และ 1 ก.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 28 ส.ค. ภาคกลางมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29 และ 30 ส.ค. มีฝนร้อยละ 45 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสิงห์บุรีในวันที่ 28 ส.ค. และจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 1 ก.ย. ภาคตะวันออกมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29 และ 30 ส.ค. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 27 และ 29 ส.ค. จังหวัดระยองในวันที่ 27, 28 และ 30 ส.ค. จังหวัดชลบุรี จันทบุรี และสระแก้วในวันที่ 27 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 29 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 28 ส.ค. มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 1 ก.ย.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก พิจิตร นครพนม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และระนอง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ