พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 10 - 16 กันยายน พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 110/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ย. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร โดยในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในวันที่ 11 และช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุดในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงส์ ผักกวางตุ้ง คะน้า) รวมทั้งควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-12 และ 15-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น และควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกอะโวคาโดควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนส
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล เช่น โรครากเน่าโคนเน่า
ภาคใต้
ในช่วงวันที่ 11-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย. ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร โดยในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. ทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
ระหว่างวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามในระยะครึ่งแรกของช่วง ต่อจากนั้นร่องมรสุมดังกล่าวได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของช่วง อนึ่ง พายุโซนร้อน "โกนเซิน (COUSON (2113))" ที่ปกคลุมบริเวณตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ในระยะครึ่งหลังของช่วงได้เคลื่อนตัวลงสู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันสุดท้ายของช่วง โดยยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4 ก.ย. มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6, 8 และ 9 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 3 ก.ย. จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 3, 7 และ 9 ก.ย. จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 8 ก.ย. และจังหวัดแพร่ ลำพูน ลำปาง ตาก และเพชรบูรณ์ในวันที่ 9 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 4, 5, 8 และ 9 ก.ย. และจังหวัดเลยในวันที่ 4,5 และ 8 ก.ย. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 8 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดอ่างทองในวันที่ 3 ก.ย. จังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 6 ก.ย. และจังหวัดลพบุรีในวันที่ 7 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 7 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 3, 8 และ 9 ก.ย. จังหวัดสระแก้วและชลบุรีในวันที่ 7 ก.ย. และจังหวัดระยอง ตราด และจันทบุรีในวันที่ 8 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 75-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 9 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 2 ก.ย. จังหวัดระนองในวันที่ 8 ก.ย. และจังหวัดกระบี่และตรังในวันที่ 9 ก.ย.
ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร หนองคาย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร
เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา และกระบี่
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา