พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 18 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2021 15:27 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 18 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 126/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 18 - 22 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 24 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง แต่บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง ขอให้เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนในบริเวณซึ่งยังคงมีน้ำท่วม หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18-20 และ 24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นในตอนเช้า เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในระยะต่อไป ส่วนทางตอนล่างของภาคที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในระยะต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 19-20 และ 24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม สำหรับระยะนี้ยังคงมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก โดยเฉพาะโรครากเน่า-โคนเน่าในมะละกอ ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ลำต้นบริเวณผิวดินมีรอยเน่าเป็นสีดำ ลักษณะฉ่ำน้ำ ยุบเป็นแถบๆ รอยเน่าอาจขยายตัวขึ้นด้านบนทำให้ใบที่เกิดมาใหม่มีก้านใบสั้นและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเร็วกว่าปกติ หรือหากเชื้อราขยายลงส่วนล่างจะทำให้รากแก้วเน่าเปื่อย หากมีอาการรุนแรง โคนต้นจะหักพับและตายในที่สุด

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18-20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก โดยเฉพาะโรคใบติดในทุเรียน ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบแห้งไหม้ ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยยึดใบให้ติดกัน โดยใบที่เป็นโรคจะแห้งติดอยู่กับกิ่ง ก่อนหลุดร่วงไปจนเหลือแต่กิ่ง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจต้นพืชอย่างสม่ำเสมอ หากพบควรตัดส่วนที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูกและพ่นสารป้องกันโรคดังกล่าว ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อน "ไลออนร็อก (LIONROCK (2117))" ปกคลุมอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน วัน

แรกของสัปดาห์ จากนั้นร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าสู่พายุโซนร้อน "คมปาซุ (KOMPASU (2118))" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีนในช่วงค่ำของวันที่ 13 ต.ค. ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนเหนือของเมืองวิญ ประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงค่ำของวันที่ 14 ต.ค. พร้อมทั้งอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในวันเดียวกัน หลังจากนั้นร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันที่ 15-16 ต.ค. และได้เลื่อนลงไปพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงเกือบตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตลอดสัปดาห์ส่วนมากทางตอนบนของภาค

อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ประกอบกับมีฝนตกหนาแน่นในวันดังกล่าว ทำให้มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันสุดท้ายของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 13 ต.ค. มีฝนร้อยละ 35 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์และในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 11 และ 16 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย และพิษณุโลกในวันที่ 11-12 ต.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 12 ต.ค. จังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 15 ต.ค. และจังหวัดตากในวันที่ 17 ต.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ ในวันที่ 12 ต.ค. มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 12-13 ต.ค. จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 16 ต.ค. และจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 17 ต.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11 และ 13 ต.ค. มีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดสระบุรีในวันที่ 13-14 ต.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 75-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 11-17 ต.ค. จังหวัดตราดในวันที่ 14-17 ต.ค. และจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายกในวันที่ 15-17 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-75 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12 และ 17 ต.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระนอง ในวันที่ 12 ต.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด สงขลา ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ อำนาจเจริญ สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ