พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday October 25, 2021 15:47 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวัน 25 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 129/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 27-29 ต.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างและเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชา ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 27-31 ต.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคหัวเน่ารากเน่าในหอมแดง รวมทั้งควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรค ให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณ ที่พบ แล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียงด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช \

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในพริก รวมทั้งควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม และทำค้างหรือขึงเชือกช่วย เมื่อต้นพริกล้มหรือเลื้อยปรกดิน เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ให้มีความชื้นสูง เป็นการลดการระบาดของโรค

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 25-28 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 29-31 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง รวมทั้งควรระวังโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน นอกจากนี้ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อลดความชื้นสะสม และควรเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออกเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ในวันแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย นอกจากนี้บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในวันที่ 22 ต.ค. และปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศเย็นส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคเหนือ มีฝน ร้อยละ 60-75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 20 และ 24 ต.ค. มีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ โดยมีรายงานดินสไลด์บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 21 ต.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา เพชรบูรณ์ในวันที่ 22 ต.ค.และจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 24 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่เว้นแต่ในวันที่ 18, 21 และ 22 ต.ค. มีฝนร้อยละ 50-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 20-22 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเลยและขอนแก่นในวันที่ 22 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นทั่วไปในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18 และ 22 ต.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 23-24 ต.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 21-23 ต.ค. มีฝนร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 18 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันและดินสไลด์บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 19 และ 24 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18, 22 และ 23 ต.ค. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา พิษณุโลก เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง ส่วนบริเวณที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ