พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2021 16:17 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 131/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน/ แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 2 พ.ย. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนอากาศเปลี่ยนแปลง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ขอประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 2 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน พร้อมทั้งเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำแผงกำบังลมหนาวและเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ สำหรับทางตอนบนของภาคปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะมีน้ำใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราน้ำค้างในพืชไร่และพืชผัก ราแป้งในกุหลาบและพืชผัก เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 64 มีฝน ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. 64 มีฝน ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู และหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้และหนอนกอในข้าวนาปี อ้อย และพืชผัก เป็นต้น โดยศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 2 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 64 มีฝน ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยทางตอนบนของภาค ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย ส่วนทางตอนล่างของภาคในพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรระวังโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคตาแดง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารรวมทั้งโรคที่มียุงเป็นพาหะ เป็นต้น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรกโนสในฝรั่ง กล้วยไม้ และองุ่น เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. - 1 พ.ย. 64 มีฝน ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในระยะนี้ยังมีฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงโดยตรง โดยหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันสภาพน้ำเปลี่ยนและไม่ให้น้ำแยกชั้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น สำหรับทางฝั่งตะวันออกของภาคเนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืชรวมทั้งขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ติดขัดตื้นเขิน นอกจากนี้ควรเตรียมพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึงเอาไว้สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงหากเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสัตว์
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ในวันแรกของช่วง จากนั้นได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แล้วอ่อนกำลังลง โดยมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันแรกของช่วง จากนั้นลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือได้ พัดปกคลุมประเทศไทย ภาคใต้และอ่าวไทยในวันที่ 23-26 ต.ค. นอกจากนี้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนล่างได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชาในวันที่ 27 ต.ค. และเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกของประเทศไทยในวันสุดท้ายของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนส่วนมากในระยะต้นและปลายช่วง กับมีอากาศเย็นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ในระยะต้นและวันสุดท้ายของช่วง ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 5-35 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา และเพชรบูรณ์ในวันที่ 22 ต.ค. จังหวัดเชียงรายในวันที่ 22-23 ต.ค. และบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 23 และ 27 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นในระยะกลางและปลายช่วงส่วนมากทางตอนบนของภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 5-55 ของพื้นที่ในระยะต้นและปลายช่วง โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้น โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 22 ต.ค. จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 22, 27 และ 28 ต.ค. และบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 26-28 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดช่วง ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง กับมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ในวันที่ 23-25 ต.ค. โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นและวันสุดท้ายของช่วง และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี และสุพรรณบุรี กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 23-26 ต.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางช่วงมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วงและวันที่ 27 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 23 และ 25 ต.ค. จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 25, 26 และ 28 ต.ค. และบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 26 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24-27 ต.ค. มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 24 ต.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 26-27 ต.ค.

ช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา อุทัยธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ