พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2021 14:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 132/64

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 2 - 6 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ/ ทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่ง กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 7 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีอากาศเย็น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง

คำเตือนในช่วงวันที่ 2-7 พ.ย. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 3-7 พ.ย. 64 อากาศเย็นกับมีฝน ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะมีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย รวมทั้งควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง โรคใบจุดในพืชระยะต้นกล้าของพืชผักต่างๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 2-6 พ.ย. 64 มีฝน ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในวันที่ 7 พ.ย. 64 อากาศเย็นกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรวมทั้งควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เนื่องจากในระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง สำหรับเกษตรที่เลี้ยงสัตว์ปีก ควรเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำแผงกำบังลมหนาว และอุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-7 พ.ย. 64 มีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรระเฝ้าวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ดอก ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ไว้ด้วย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูกและโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มและมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรเร่งระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ไม่ปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่น 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียงหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราสนิมในกาแฟ โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคเส้นดำในยางพารา เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ควรดูแลในเรื่องของการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคาป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย
ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนได้อ่อนกำลังลงในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนในวันที่ 29 ต.ค. นอกจากนี้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนล่างได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชาในวันที่ 27 ต.ค. และเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกของประเทศไทย ในวันที่ 28 ต.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีอากาศเย็นบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 27 ต.ค. จังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 29 ต.ค. และจังหวัดลำพูนในวันที่ 30 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอย จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ในวันที่ 27 ต.ค. และ 29-31 ต.ค. โดยเฉพาะในวันที่ 28 ต.ค. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 26-31 ต.ค. และบริเวณจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 27-28 ต.ค. นอกจากนี้มีรายงานอากาศเย็นทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภู จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ในวันที่ 28, 30 และ 31 ต.ค. กับมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ในวันที่ 25 และ 29 ต.ค. โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอ่างทองในวันที่ 30 ต.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 27, 30 และ 31 ต.ค. มีฝนร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 27, 30 และ 31 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 25 และ 30 ต.ค. จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 25, 26 และ 28 ต.ค. และบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 26 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 28-29 ต.ค. มีฝนร้อยละ 25-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 30 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 26-27 ต.ค.

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา ตรัง และสตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย นครพนม มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต และกระบี่

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ