พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 133/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งของประเทศมาเลเซียจะเคลื่อนลงช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในวันที่ 7-9 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมแรงในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และมีอากาศเย็นโดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้ผลกระทบในระยะต่อไป โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร คำเตือน ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีอุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกัน
การเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ หลังจากนั้นในวันที่ 9 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม) รวมทั้งหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช และหากพบแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมแรง หลังจากนั้นในวันที่ 9 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส มีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสและไรขาวในพริก นอกจากนี้ควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่กับมีลมแรง หลังจากนั้นในวันที่ 9 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะฝักและมวนถั่วในถั่วเหลือง และหากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรพ่นยาเพื่อกำจัด
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีลมแรง หลังจากนั้นในวันที่ 9 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนหน้าแมวในปาล์มน้ำมัน สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนอย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น
ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล ส่วนบริเวณที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย นครพนม มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต และกระบี่
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา