พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 137/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. 64 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคใต้ คาดว่าจะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันที่ 14 พ.ย. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. ภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีอากาศเย็นในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชไร่และพืชผัก สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อยประกอบกับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดอัตราการการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลำไยและลิ้นจี่ เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนานและเพียงพอก็จะกระตุ้นให้พืชแตกตาดอกได้ดี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนที่มีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรค เลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับพื้นที่ซึ่งยังคงมีฝนตกทำให้ดินและอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรกโนสในองุ่นและฝรั่ง โรคเน่าดำ ในกล้วยไม้ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรระวังโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. 64 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้และวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในวันที 15 - 18 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในวันที 15 - 18 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.
- ระยะนี้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียงหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร รวมทั้งขุดลอกคูคลองระบายน้ำ และสันดอนปากแม่น้ำ สำหรับดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกแสงแดดส่องได้ทั่วถึง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อม อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12-14 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กงดออกจากฝั่ง
ระหว่างวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลงในระยะต้นช่วง โดยในระยะกลางช่วงบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากนั้นได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะดังกล่าวทำให้มีอากาศเย็นหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนส่วนมากในระยะต้นและกลางช่วง สำหรับบริเวณภาคใต้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียในวันแรกของช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะครึ่งแรกของช่วงมีกำลังแรงขึ้นแล้วพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันในระยะครึ่งหลังของช่วง ทำให้มีฝนตกหนาแน่นตลอดช่วงโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอยตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ตลอดช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภูตลอดช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 7 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม หนองบัวลำภู ขอนแก่น และอุบลราชธานี นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 10-11 พ.ย. ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 30-75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นและกลางช่วง นอกจากนี้มีรายงาน น้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 35-75 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 5, 6 และ 8 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในบางวัน โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง โดยเฉพาะในระยะปลายช่วงมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชในวันที่ 6, 10 และ 11 พ.ย. จังหวัดพัทลุงในวันที่ 7 พ.ย. และจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 10-11 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณจังหวัดภูเก็ตเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 6, 8 และ 11 พ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 6, 7, 10 และ 11 พ.ย. กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 และ 11 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกระบี่ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. และจังหวัดตรังในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดราชบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ อุบลราชธานี อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา