พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday November 15, 2021 15:46 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 138/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15 - 21 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ ขอให้เกษตรกรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงรวมทั้งให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย สำหรับช่วงวันที่ 15 -16 พ.ย. ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย ส่วนเกษตรกรที่ปลูกผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด รวมทั้งข้าวโพด ระวังโรคราน้ำค้างซึ่งจะทำให้ใบผักเกิดจุดแผลสีเหลืองหรือเกิดเป็นแถบปื้นสีเหลืองบนใบ สำหรับข้าวโพดยอดใบจะเป็นสีเหลืองซีด ใบเป็นลายทางสีเขียวอ่อนสลับแก่สามารถพบได้ในข้าวโพดตั้งแต่เริ่มปลูกถึงอายุ 30 วัน ถ้าโรคมีความรุนแรงอาจพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้ายอยู่ใต้ใบซึ่งพบได้ทั้งในผักและข้าวโพด หากโรคลุกลามจะทำให้ใบเป็นสีน้ำตาล ต้นทรุดโทรม และแห้งตาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรวมทั้งให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพริกควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคแอนแทรคโนส หรือ โรคกุ้งแห้ง ซึ่งมักพบเป็นจุดช้ำบนผลพริกที่เริ่มสุก ลุกลามจนทำให้ผลเน่า โค้งงอ บิดเบี้ยว ลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง และร่วงหล่นก่อนเก็บเกี่ยว

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลืองในระยะปลูกใหม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด หลังจากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นจนกระจายไปทั่วทั้งแปลง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที 16 - 21 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที 16 - 21 พ.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกด้วง เช่น ด้วงงวงและด้วงแรด ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะทำลายยอดอ่อนและวางไข่ โดยตัวอ่อนจะเจาะกินและชอนไช ทำให้ลำต้นเน่าใน ต้นเฉาแคระแกรน ยอดหักพับและตายได้ ในระยะนี้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนในบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรงเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. จากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงดังกล่าวได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอยตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันแรกของสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ของจังหวัดนครพนมในวันที่ 11 พ.ย. และมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภูตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในวันที่ 8 และ 13 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดมหาสารคาม หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย. ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะกลางสัปดาห์ ส่วนวันอื่น ๆ มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ในระยะต้นและปลายสัปดาห์ กับมีฝนหนักหลายแห่งและหนักมากบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์บริเวณจังหวัดราชบุรี นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 13 พ.ย. โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชในช่วงวันที่ 10-14 พ.ย. จังหวัดสงขลาและชุมพรในช่วงวันที่ 12-14 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณจังหวัดภูเก็ตเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระนองในช่วงวันที่ 12-14 พ.ย. และจังหวัดตรังในวันที่ 13 พ.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดราชบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย นครปฐม ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ