พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday November 26, 2021 15:35 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 143/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างตลอดช่วง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 28 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 26 - 30 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และในช่วงวันที่ 1 - 2 ธ.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกัน การเจ็บป่วย ส่วนภาคใต้จะมีฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26 - 27 พ.ย. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงอีก 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 4-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารเนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง ระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและ การกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26 - 30 พ.ย. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในวันที่ 29 - 30 พ.ย. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 2 ธ.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้จะอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงตายได้ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารเนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำ กินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และควรให้อาหารสัตว์น้ำในช่วงสายหรือช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้มากขึ้นการเจริญเติบโตดีขึ้น สำหรับสภาพอากาศ ที่แห้งและมีลมแรงในบางช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรและหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26 - 30 พ.ย. 64 อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในช่วงวันที่ 29 - 30 พ.ย. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 2 ธ.ค. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้ อนึ่ง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26 - 30 พ.ย. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 29 - 30 พ.ย. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 2 ธ.ค. 64 อากาศเย็น กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกันในระยะนี้ สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้น ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำเนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารลง เพื่อป้องกันอาหารที่เหลือทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 28 - 30 พ.ย. 64 ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 27 พ.ย. 64 และ 2 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 28 พ.ย. 64 และ 2 ธ.ค. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่เคยมีประวัติน้ำท่วมมาก่อน ควรเตรียมอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ ให้พร้อมใช้งาน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกให้น้ำไหลได้สะดวกรวม ทั้งขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ติดขัด ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากทำให้น้ำจืดไหลลงทะเลได้มาก ส่งผลให้สภาพน้ำเปลี่ยน เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น อนึ่ง ระยะนี้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากคลื่นลมแรงพัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในระยะครึ่งแรกของช่วง ทำให้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางในระยะดังกล่าว โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีฝนในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของช่วง กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่างในวันสุดท้ายของช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปทางตอนบนของภาค ส่วนตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ตลอดช่วงและหนาวจัดบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 21-22 พ.ย. และมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วงและในระยะครึ่งหลังของช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไปและมีอากาศหนาวบางพื้นที่ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภู โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่ส่วนมากในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ ในวันช่วงที่ 19-20 และ 22 พ.ย. และมีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ในวันที่ 21 และ 23 พ.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคในระยะปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 22 พ.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานีในช่วงวันที่ 23-25 พ.ย. จังหวัดพัทลุงในวันที่ 24 พ.ย. จังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราชในวันที่ 25 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณจังหวัดภูเก็ตในระยะต้นและกลางช่วง โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ