พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Wednesday December 1, 2021 13:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 145/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง กับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลงอีก 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงอีก 3-5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ร่องมรสุมเคลื่อนลงไปพาดผ่านประเทศมาเลเซีย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 1 - 3 ธ.ค. 64 ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนกลางถึงตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมบริเวณประเทศตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามัน มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีน้ำค้างแข็งในบางพื้นที่ ขอให้เกษตรกรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงรวมทั้งให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรในภาคใต้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลงอีก 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.จะมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริเวณยอดดอยอาจเกิดน้ำค้างแข็งได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งระวังความเสียหายที่อาจเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.จะมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรวมทั้งให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.จะมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลืองในระยะปลูกใหม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด หลังจากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นจนกระจายไปทั่วทั้งแปลง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 5 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.จะมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง ส่วนพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่1 - 3 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 4 - 7 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-95 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 1 - 3 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 4 - 7 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ตอนกลางถึงตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1 - 3 ธ.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยเฉพาะเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานฝนตกบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีรายงานฝนหนักมากบริเวณชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับปริมาณฝนมากที่สุด วัดได้ 369.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ