พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2021 15:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 153/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 21-26 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่งในบริเวณดังกล่าว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20-26 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อ

ป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค.จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 10-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีความชื้นสูง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคแอนแทรคโนสในสตรอว์เบอร์รี รวมทั้งควรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21-26 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันหนอนแมลงวันเจาะลำต้นในถั่วเหลือง และก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดถั่วเหลืองด้วยสารกำจัดแมลง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21-26 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคราแป้งในมะม่วง รวมทั้งควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรคให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21-26 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่งร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรให้อาหารอย่างเหมาะสม เพราะอากาศเย็นจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงสายจึงให้อาหารเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันเพลี้ยไฟในพริก รวมทั้งควรพ่นด้วยสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต้นสัปดาห์จากนั้นอ่อนกำลังลง โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ซึ่งมีกำลังค่อนข้างแรงในระยะต้นสัปดาห์ และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาคในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ต่อจากนั้นมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มมากขึ้นทั้งสองฝั่ง

ภาคเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดสัปดาห์ ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 15-45 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันแรกและระยะปลายสัปดาห์ และมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในวันที่ 16-17 ธ.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสงขลาในวันที่ 17 ธ.ค. และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดยะลา และนราธิวาสในวันที่ 17-19 ธ.ค. จังหวัดสงขลาในวันที่ 18-19 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-15 ของพื้นที่ในวันที่ 13 และ 16 ธ.ค. ต่อจากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ ร้อยละ35 - 80 ของพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี สงขลา ยะลา และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และปัตตานี สำหรับปริมาณฝนมากที่สุด วัดได้ 128.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ