พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 3/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส และบริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศา ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส และมีอากาศหนาวเย็นลง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และในช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 7-13 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาว มีความชื้นสูงในตอนเช้า กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของราน้ำค้างและราแป้งในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงโม เมล่อน แคนตาลูป ฟักทอง มะระจีน และบวบ เป็นต้น นอกจากนี้ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 7-11 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม และคลุมดินบริเวณแปลงปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 7-11 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นในตอนเช้า เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรให้อาหารอย่างเหมาะสม เพราะอากาศเย็นจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงสายจึงให้อาหารเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 7-11 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นและแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากอยู่ในช่วงแล้ง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. คลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. คลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ นอกจากนี้ควรระวังหนอนชอนใบและหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล
ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564 - 6 มกราคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอ่อนกำลังลง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวทางตอนบนของภาคในระยะครึ่งหลังของช่วง สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูอากาศหนาว ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดช่วง ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 4 ม.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง
ช่วงที่ผ่านมาไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พัทลุง สงขลา และนราธิวาส ปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 89.5 มม. ที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 65
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา