พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 10 - 16 มกราคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday January 10, 2022 14:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 10 - 16 มกราคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11 - 13 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส และบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 ม.ค.บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีอากาศเย็นในตอนเช้าบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก ประกอบกับในช่วงวันที่ 13 - 16 ม.ค. จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. ทำให้มีฝนน้อย ส่วนในช่วง12 - 16 ม.ค. มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นส่วนมากทางตอนล่างของภาค และคลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนในระยะต้นและปลายสัปดาห์จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง สำหรับในช่วงวันที่ 13 - 16 ม.ค. บริเวณภาคเหนือจะมีฝน ฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 16 ม.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 และ 15 - 16 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยในช่วงวันที่ 13 - 16 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 13-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็นและมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะขณะผ่านบริเวณที่มีหมอก และไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจทำให้เปียกชื้นเนื่องจากหมอกและน้ำค้าง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะ โรคราน้ำค้างในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผัก เป็นต้น สำหรับในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศยาก แต่จะแผ่บกคลุมบริเวณข้างเคียงทำให้ทัศนวิสัยลดลงเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรและควันไฟอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 13 - 16 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 และ 15 - 16 ม.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-16 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรโดยเฉพาะขณะผ่านบริเวณที่มีหมอก สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งานเพื่อป้องกันอัคคีภัย ส่วนระยะนี้และระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดน้ำของพืช

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 และ 15 - 16 ม.ค.อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำอย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับปริมาณน้ำระเหยจะมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 และวันที่ 16 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 17-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • สภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรและอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะสวนยางพารา ชาวสวนควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องติดไฟควรดับ ให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลาม ส่วนในบางช่วงจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคราดำในมะม่วงโดยฉีดพ่นน้ำบริเวณใบและทรงพุ่มแต่ไม่ควรฉีดแรงเกินไปเพราะจะทำให้ช่อดอกช้ำการติดผลลดลง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. มีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 ม.ค. ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. มีเมฆบางส่วน กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 ม.ค. ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ทางตอนบนของภาคจะมีอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับทางตอนล่างของภาคมีฝนที่ตก ไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ระยะนี้แม้ปริมาณฝนจะลดลงแต่ความชื้นในดินและในอากาศยังคงสูงโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจาก เชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 16 ม.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรงโดยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 3 - 9 มกราคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันแรก ของสัปดาห์แล้วอ่อนกำลังลง โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในวันแรกของสัปดาห์จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว ภาคกลางมีอากาศเย็นทั่วไป ภาคตะวันออกมีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดพัทลุงและสงขลาในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค.และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 4 ม.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดพัทลุงและสงขลา โดยวัดปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 89.5 มม. ที่ อ.สทิงพระจ.สงขลา เมื่อวันที่ 5 ม.ค.

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ