พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 12 - 18 มกราคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 13 - 18 ม.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นในบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส และบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 17 ม.ค. จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนมากทางตอนล่างของภาค และคลื่นลม มีกำลังแรงขึ้น ตลอดช่วง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กับจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรงชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 17 ม.ค. บริเวณภาคเหนือจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 12 - 14 ม.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนบนของภาค และในช่วงวันที่ 15 - 17 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึง หนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยในช่วงวันที่15 - 17 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองเกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เสียหายได้ รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร โดยคลุมแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดินและสงวนความชื้นภายในดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งตอนกลางคืน เพราะจะทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงตายได้ นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำในดิน รักษาความชื้นดิน และรักษาอุณหภูมิดิน อนึ่ง ระยะนี้เป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคกลาง
อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้าตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับปริมาณน้ำระเหยที่มีมากทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้มีฝนน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยงและดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่หากน้ำมีน้อยขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.
ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ทางตอนบนของภาคมีอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร ส่วนทางตอนล่างของภาคมีฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง อนึ่ง ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรงโดยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา