พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 24 - 30 มกราคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 10/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 25-29 ม.ค. 6 5 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับบริเวณ/ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้บริเวณภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในวันที่ 30 ม.ค. 65 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คำเตือนในช่วงวันที่ 24-29 ม.ค.65 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 25-29 ม.ค. 65 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในวันที่ 30 ม.ค. 65 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังในขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและจะเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 25-28 ม.ค. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 ม.ค. 65 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้า เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้เข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่มีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและรักษาความชื้นในดิน ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 24-29 ม.ค. 65 อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 30 ม.ค. 65 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70% ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีแดดจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ไว้ด้วย ศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ในระยะนี้ควรเลือกปลูกที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ โดยควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและรักษาความชื้นในดิน นอกจากนี้เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ไว้ด้วย เนื่องจากมีแดดจัดในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำมีมาก เกษตรควรให้คลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและรักษาความชื้นในดิน สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ และจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะสวนยางพารา เนื่องจากใบที่ร่วงหล่นในระยะนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็ว
ระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนืออุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคในวันสุดท้ายของสัปดาห์ สำหรับฝนในสัปดาห์นี้บริเวณประเทศไทยตอนบนได้รับอิทธิพลจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณดังกล่าวในวันแรกและในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ โดยในวันที่ 22 ม.ค. มีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือและภาคกลาง ลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคเหนือมีฝนตลอดสัปดาห์ ส่วนภาคอื่น ๆ มีฝนส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมตลอดสัปดาห์ ทำให้มีฝนบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของสัปดาห์อุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 50-75 ของพื้นที่ในระยะกลางช่วง ส่วนในระยะต้นและปลายช่วงมีฝนน้อยกว่าน้อยร้อยละ 30 พื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 19-20 และ 22 ม.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดน่าน พะเยา และลำพูนในวันที่ 19-20 ม.ค. กับมีรายงานลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดพะเยาในวันที่ 19 ม.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 19-20 ม.ค. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 30-70 ของพื้นที่ ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 40-75 ของพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทองในวันที่ 21 ม.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ .
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และตราด
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา