พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Wednesday January 26, 2022 15:38 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 26 - 27 ม.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 29 ม.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 30 ม.ค. - 1 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนในบริเวณที่มีหมอกลงหนา รวมทั้งควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรบริเวณยอดดอย ควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำค้างแข็งที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 13-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.ในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค. จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงอีก ทำให้มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป ส่วนบริเวณยอดดอยอาจเกิดน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย โดยคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดินและรักษาความชื้นภายในดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
          ในช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 28-29 ม.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในช่วงวันที่        30 ม.ค.-1 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ    10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก โดยเฉพาะพืชตระกูลแตง ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้ใบเป็นจุดสีเหลือง เป็นปื้นไปตามแนวใบ ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาล ลุกลามจนใบหลุดร่วง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล โดยเฉพาะผลพุทราควรระวังและป้องกันแมลงวันผลไม้ที่มาวางไข่ในระยะพัฒนาผล ตั้งแต่ระยะผลอ่อนไปจนกระทั่งผลสุก โดยหนอนจะกัดกินชอนไชอยู่ภายในผลจนเป็นโพรง ทำให้ผลพุทราเน่าและร่วงหล่นเสียหาย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค.อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.ในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค. จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับพื้นที่ซึ่งสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟในพริก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิกงอ ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอก ทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล ชะงักการเจริญเติบโต และแห้งตายในที่สุด รวมทั้ง ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลือง ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด หลังจากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ตะวันออก ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 26-29 ม.ค. จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันเพลี้ยจักจั่นมะม่วง ดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อย พร้อมกับถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำหวานเหนียว ๆ ติดตามใบ ช่อดอก ผล จนใบมะม่วงเปียกและเกิดราดำปกคลุม ทำให้มีผลต่อการสังเคราะห์แสงได้ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีลมแรงและฝนเล็กน้อยบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรโดยผูกยึดค้ำยันกิ่งให้มั่นคงแข็งแรง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % - ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2565 มีรายงานบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และตราด

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ