พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางแห่ง และมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเป็นบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นโดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. บริเวณภาคเหนือจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 1 - 3 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 11-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 14-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กเนื่องจากความต้านทานความหนาวเย็นต่ำกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลงอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนอง ผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยวไม่ควรปล่อยไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกฝนเสียหายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 14 - 23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13 - 21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย เนื่องจากปริมาณฝนมีน้อยประกอบกับน้ำระเหยมีมากทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. จะมีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1- 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.
- สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในช่วงที่ผ่านมาควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยโดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องติดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยโดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพารา เกษตรกรไม่ควรจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องติดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากนี้ควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
ระหว่างวันที่ 24 - 30 มกราคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนได้รับอิทธิพลจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกในวันที่ 27-29 ม.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ
มีอากาศหนาวทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดสัปดาห์ กับมีฝนบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้มีฝนในบางพื้นที่
ภาคเหนือ มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนเล็กน้อย น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ในวันที่ 24, 27 และ 29 ม.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 26-27 ม.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 26 ม.ค. และมีฝนน้อยว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ ในระยะปลายสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 29 ม.ค.
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา