พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 16/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.พ. 65 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.พ. 65 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้มีกำลังปานกลางตลอดช่วง (7 - 13 ก.พ. 65) ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 7 -9 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนในบริเวณที่มีหมอกลงหนา รวมทั้งควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรบริเวณยอดดอย ควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำค้างแข็งที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 7 - 11 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 13 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ในช่วงวันที่ 7-11 ก.พ. จะมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป ส่วนบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย โดยคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดินและรักษาความชื้นภายในดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับช่วงนี้มีฝนน้อย เกษตรกรควรปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืช รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพุทราควรระวังและป้องกันแมลงวันผลไม้ที่จะมาวางไข่ในระยะพัฒนาผล ตั้งแต่ระยะผลอ่อนไปจนกระทั่งผลสุก โดยหนอนจะกัดกินชอนไชอยู่ภายในผลจนเป็นโพรง ทำให้ผลพุทราเน่าและร่วงหล่นเสียหาย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.พ. อากาศเย็นมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.พ. จะมีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.
- ในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก โดยเฉพาะพืชตระกูลแตง ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบเป็นจุดสีเหลือง เป็นปื้นไปตามแนวใบ ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาล ลุกลามจนใบหลุดร่วง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ชาวสวนมะม่วงควรระวังและป้องกันเพลี้ยจักจั่น ที่จะมาดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น ติดผลน้อย ซึ่งเพลี้ยดังกล่าวจะถ่ายมูลออกมามีลักษณะเป็นน้ำหวานเหนียว ติดตามใบ ช่อดอก และผลอ่อน ในขณะที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้เกิดราดำปกคลุมส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงได้
ภาคตะวันออก
ตะวันออก ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.พ. จะมีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1- 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.พ. จะมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ชาวสวนมะม่วงควรระวังและป้องกันเพลี้ยจักจั่น ที่จะมาดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น ติดผลน้อย ซึ่งเพลี้ยดังกล่าวจะถ่ายมูลออกมามีลักษณะเป็นน้ำหวานเหนียว ติดตามใบ ช่อดอก และผลอ่อน ในขณะที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้เกิดราดำปกคลุมส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคในระยะต้นและกลางสัปดาห์ นอกจากนี้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะต้นสัปดาห์ และมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือในระยะปลายสัปดาห์ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าทั้งปริมาณและการกระจายของฝน ส่วนภาคใต้มีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นในระยะกลางและปลายสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคในระยะต้นและกลางสัปดาห์ ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ของจังหวัดตากในระยะต้นสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในวันที่ 2-3 และ 6 ก.พ. และมีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 4-5 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะต้นและปลายสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 10 - 50 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ในวันที่ 2-5 ก.พ. กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีในวันที่ 4 ก.พ. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 15-55ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางพื้นที่บริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 3 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 25-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 2 และ 5-6 ก.พ.ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่2-3 ก.พ.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเลย ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ขอนแก่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร สระแก้ว ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี พังงา และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา