พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 11 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2022 14:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 11 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 18/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ/ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นในวันที่ 17 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือนในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ.65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 11-12 ก.พ. 65 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ในช่วงวันที่ 13-15 ก.พ. 65 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 12-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 6-17 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 11-12 ก.พ. อากาศแปรปรวน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ สำหรับชาวสวนผลไม้ควรผูกยึดค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ลำต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ผักในพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ก.พ. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. อากาศแปรปรวน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสถาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ นอกจากนี้ควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ขณะมีฝนฟ้าคะอง เพราะสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ขณะมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากในระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวสวนผลไม้ควรผูกยึดกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ลำต้นโค่นล้ม ขณะมีลมแรง ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนตกลงดินไหลลงบ่อเลี้ยงโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน โดยหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-17 ก.พ. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม. - ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนเจาะลำต้นทุเรียน ซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ต้นทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบร่วง และยืนต้นตายได้ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ

ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนในระยะดังกล่าว ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นทั่วไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีอากาศหนาวทางตอนบนของภาคเหนือในระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนภาคอื่นๆ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ สำหรับฝนอิทธิพลจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่เคลื่อนเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกในระยะต้นและปลายช่วง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนในช่วงดังกล่าว ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมทำให้มีฝนตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป โดยมีอากาศหนาวทางตอนบนของภาคในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 55-90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นช่วง และมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ในวันที่ 6, 8 และ 10 ก.พ. กับมีรายงานลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 5 ก.พ. และจังหวัดเชียงรายในวันที่ 6 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบน สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นช่วง ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ในระยะต้นและปลายช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-55 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในบริเวณจังหวัดระยองในวันสุดท้ายของช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 4 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 7 ก.พ. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 7 และ 9 ก.พ.

ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก เลย ขอนแก่น ลพบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ