พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday February 25, 2022 15:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 24/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 25 - 27 ก.พ. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย จะเคลื่อนผ่านปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย แล้วลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดย อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 25 - 27 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง อนึ่ง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กงดออกจากฝั่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. ยังคงมีอากาศหนาวเย็น ส่วนบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนจากอากาศที่หนาวเย็นลง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย ในช่วงนี้บางพื้นที่ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้ความชื้นในดินมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดินและรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. มีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 15-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. ยังคงมีอากาศหนาวเย็น ส่วนบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับทางตอนล่างของภาคปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. มีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก โดยเฉพาะพืชตระกูลแตง ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบเป็นจุดสีเหลือง เป็นปื้นไปตามแนวใบ ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาล ลุกลามจนใบหลุดร่วง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกออ้อยกับหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ. มีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 27 ก.พ. - 3 มี.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง โดยอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟ โดยเฉพาะเพลี้ยไฟในทุเรียนซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้งหงิกงอ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 25 - 27 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 25 - 27 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมาก ในช่วงวันที่ 26 - 27 ก.พ. ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับช่วงนี้ในดินและอากาศจะมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น อนึ่ง ในระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 27 ก.พ. สำหรับพื้นที่ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตกเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น
ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18 - 24 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันที่ 21 ก.พ. จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาว สำหรับฝนในช่วงนี้อิทธิพลจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนในช่วงดังกล่าว สำหรับภาคใต้มีลมตะวันออกเฉียงใต้ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว อีกทั้งมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณนอกชายฝั่งประเทศมาเลเซียในวันสุดท้ายของช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 75-90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนในระยะครึ่งแรกของช่วงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง เว้นแต่ในวันที่ 20 ก.พ. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกของช่วง ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 20-45 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและกลางช่วง เว้นแต่ในวันที่ 18 ก.พ. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนหนักหลายพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 50-75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 19 และ 21 ก.พ. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 21 และ 23 ก.พ. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 19 ก.พ.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนบริเวณที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง และพังงา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ