พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 16 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 32/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 มี.ค. ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. มีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณใกล้เกาะสุมาตรามีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเมียนมาและปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้ด้านตะวันตกของประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ หลังจากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
สำหรับภาคใต้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค.
คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกในบางพื้นที่ และฟ้าผ่า สำหรับในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. บริเวณภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 17-20 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-41 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 21-22 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง สำหรับในช่วงวันที่ 21-22 มี.ค. จะมีลมกระโชกบางแรงพื้นที่ เกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 16-18 และ 22 มี.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงวันที่ 16-18 และ 22 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า นอกจากนี้ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 17-22 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานหากต้องการปลูกพืชรอบใหม่ ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 17-22 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ในช่วงวันที่ 17-22 มี.ค. จะมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกควรระวังและป้องกันการระบาดโรคแอนแทรคโนส
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำขัง
ระหว่างวันที่ 9-15 มีนาคม 2565 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา