พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 5 เม.ย. พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 38/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมภาค/ ตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะเริ่มบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับในช่วงวันที่ 3-5 เม.ย. 65 บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2-4 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะทำให้คลายความร้อนอบอ้าวลง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนล่าง ปลายแหลมญวน และเข้าปกคลุมภาคใต้ต่อไป ทำให้ลมฝ่ายตะวันออกที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน อ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 3-5 เม.ย.65 มีเมฆบางส่วน อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- เนื่องจากระยะนี้อากาศแปรปรวน โดยในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนกระทู้ผักในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 3-5 เม.ย.65 มีเมฆบางส่วน อุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ระยะนี้อากาศแปรปรวน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะโค และกระบือ ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่โล่งแจง ในขณะมีฝนฟ้านอง เพราะอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 3-5 เม.ย.65 มีเมฆบางส่วน อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศอากาศแปรปรวน โดยในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยไฟในพริก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยง จากยอดอ่อน ใบอ่อน ตาดอกและดอก ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.65 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ในวันที่ 3-5 เม.ย.65 มีเมฆบางส่วน อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย โดยเฉพาะชาวสวนไม้ผลควรผูกยึดค้ำยันกิ่งและต้นให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผล โดยเฉพาะหนอนเจาะผลในทุเรียน เป็นต้น
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย.65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ระหว่างวันที่ 23-29 มีนาคม 2565 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย และชัยนาท ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา น่าน พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา