พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 - 7 เมษายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday April 1, 2022 16:05 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 - 7 เมษายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 39/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นกับมีลมแรงในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยจะเริ่มบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตอนบนช่วยคลายความร้อนลงได้ ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณปลายแหลมญวน มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในช่วงวันที่ 2-3 เม.ย. ทำให้ลมฝ่ายตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกในบางพื้นที่ และฟ้าผ่า สำหรับในช่วงวันที่ 1-7 เม.ย.บริเวณภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร ส่วนในช่วงวันที่ 2-3 เม.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวประมงและชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง รวมทั้งควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-35 องศาเซลเซียส ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า ลมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า นอกจากนี้ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและฝนตกหนักบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 4-7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลและพืชผัก

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 2-3 เม.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 4-7 เม.ย. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำขัง นอกจากนี้ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของช่วง ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะกลางช่วง แล้วอ่อนกำลังลง นอกจากนี้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนล่างเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชาในวันสุดท้ายของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในระยะครึ่งหลังของช่วงที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลงทำให้มีอากาศร้อนเพียงบางพื้นที่ สำหรับฝนประเทศไทยตอนบนมีฝน โดยเฉพาะในระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนภาคใต้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนในระยะต้นช่วง จากนั้นมีลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝน

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 28-29 มี.ค. มีฝนร้อยละ 50-60 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณ จังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 26 มี.ค. จังหวัดเชียงรายและพะเยาในวันที่ 27 มี.ค. จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร และลำปางในวันที่ 28 มี.ค. จังหวัดน่านในวันที่ 29 มี.ค. และจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 30 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 27 มี.ค. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 25 มี.ค. จังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 25 และ 30 มี.ค. จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามในวันที่ 26 มี.ค. จังหวัดชัยภูมิในวันที่ 26 และ 28 มี.ค. จังหวัดมุกดาหาร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครพนม หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญในวันที่ 27 มี.ค. และจังหวัดยโสธรในวันที่ 27 และ 30 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนบางพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 28-29 มี.ค. มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทและกาญจนบุรีในวันที่ 28 มี.ค. และจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 29 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระยองและชลบุรีในวันที่ 31 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 29 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง ส่วนวันอื่นๆ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง

ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา น่าน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ