พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 4 - 10 เมษายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2022 15:39 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 4 - 10 เมษายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 40/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเล อันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 เม.ย. ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนลมตะวันออก ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนคลื่นลมจะมีกำลังแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

          - สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรและหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะอาจลุกลามเป็นอัคคีภัยและควันไฟอาจเป็นอันตรายต่อ         สุขภาพ สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ระยะนี้น้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 8 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 10 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงหากพบตัวที่ป่วยควรรีบแยกออก จากกลุ่ม แล้วทำการรักษา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปสู่ตัวอื่น ส่วนสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ระยะนี้น้ำระเหยมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ ทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำของพืชในระยะเจริญเติบโต นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของ ศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 4 -7 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 4 - 5 เม.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 8 - 10 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 4 - 7 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 8 - 10 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก หากแตกใบอ่อนในระยะนี้ควรให้ปุ๋ยบำรุงใบ และระวังป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต การผลิดอกออกผลลดลง สำหรับคลื่นลมจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะดังกล่าวแล้วอ่อนกำลังลง จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ นอกจากนี้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนาม กัมพูชาและปลายแหลมญวนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 1 เม.ย. หลังจากนั้นได้เคลื่อนลงสู่อ่าวไทยและเข้าปกคลุมภาคใต้ ประกอบกับลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนทำให้มีอากาศร้อนเพียงบางพื้นที่และมีอากาศเย็นทั่วไปในวันสุดท้ายของสัปดาห์ สำหรับประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเกือบตลอดสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศร้อนเพียงบางพื้นที่ และมีอากาศเย็นทั่วไปในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 30-31 มี.ค. และ 3 เม.ย. มีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร และลำปางในวันที่ 28 มี.ค. จังหวัดน่านในวันที่ 29 มี.ค. จังหวัดสุโขทัยในวันที่ 30 มี.ค. และจังหวัดพิจิตรในวันที่ 1 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนล่างของภาค โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 1-2 เม.ย. มีฝนร้อยละ 75-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 28 มี.ค. จังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 30 มี.ค. และจังหวัดยโสธรในวันที่ 30 มี.ค. และ 2 เม.ย. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไปในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 30-70 ของพื้นที่ในระยะต้นและปลายสัปดาห์ ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนในบางพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทและกาญจนบุรีในวันที่ 28 มี.ค. และจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 29 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนส่วนมากทางตอนบนของภาคในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 25-60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง

โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรีในวันที่ 31 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมี

ฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 29 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 2 เม.ย. ส่วนวันอื่นๆ มีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 1 เม.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และสงขลา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ