พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 8 - 14 เม.ย. พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday April 8, 2022 14:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 เม.ย. พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 42/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 9-10 เม.ย. 65 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. 65 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง

คำเตือน -

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-11 เม.ย. 65 อากาศร้อนมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. 65 อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน และมีฝนได้ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร เป็นต้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าว เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อปองกันผิวไหมและร่างกายขาดน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. 65 มีเมฆบางส่วน กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. 65 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูก เช่น เพลี้ยและไร เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยใช้พัดลมหรือเครื่องพ่นละอองน้ำ หรือใช้สายยางฉีดพ่นน้ำในช่วงที่อากาศร้อน รวมทั้งควรจัดหาน้าสะอาดให้สัตว์เลี้ยงดื่มอย่างเพียงพอตลอดเวลา และภาชนะใส่น้ำควรอยู่ในที่ร่ม เพื่อป้องกันสัตว์ลี้ยงเกิดภาวะเครียด

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วงโดยในช่วงวันที่ 10-12 เม.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้มีอากาศอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร เป็นต้น ศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้วยคุณภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาอุณหภูมิดินได้ด้วย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้มีอากาศร้อนและมีฝนได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนซึ่งอยู่ในระยะพัฒนาผล ระวังการระบาดของโรคผลเน่า โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรตัดผลทุเรียนที่เป็นโรคและเก็บผลที่เน่าร่วงหล่นใต้ต้นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมในแปลงปลูก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ต้องไม่เลี้ยงสัตว์น้ำหนาแน่นจนเกินไป รวมทั้งควรทำร่มเงาด้วยสแลนบังแดด เพื่อลดความเข้มของแสงที่ตกลงไปถึงกระชังปลาหรือบ่อเลี้ยงโดยตรง โดยกางคลุมเหนือกระชังหรือบ่อเลี้ยง นอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิน้ำแล้วยังช่วยลดความเครียดจากแสงจ้ามากเกิน และเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวัน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนกินใต้ผิวเปลือกในลองกอง เป็นต้น สำหรับในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมขังในช่วงที่ผ่านมา หากระดับน้าลดลงแล้ว เกษตรกรควรเร่งฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 1-7 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลงในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่าช่วงก่อน โดยเฉพาะในระยะกลางช่วงมีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้าบริเวณประเทศไทยตอนบนกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ส่วนมากในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีฝนส่วนมากในระยะครึ่งแรกของช่วง ส่วนบริเวณภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนจากอ่าวไทยเข้าปกคลุมภาคใต้ในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยในวันแรกของช่วง จากนั้นมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกบริเวณดังกล่าวแล้วมีกำลังอ่อนลงในระยะครึ่งหลังของช่วง ทำให้มีฝนตกตลอดช่วงโดยเฉพาะในระยะกลางช่วงมีฝนตกชุกหนาแน่นทางชายฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 45-50 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนลดลงน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิจิตรในวันที่ 1 เม.ย. นอกจากนี้ในระยะกลางช่วงอุณหภูมิได้ลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้ากับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในวันที่ 1 และ 5 เม.ย. กับมีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้าในช่วงวันที่ 2-7 เม.ย.กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 2 และ 3 เม.ย. โดยมีฝนร้อยละ 75-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ ในวันที่ 3 เม.ย. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดยโสธรในวันที่ 2 เม.ย.

ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนวันอื่นๆมีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 45-70 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนวันอื่นๆมีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ในวันที่ 1, 3, 5 และ 7 เม.ย. ส่วนวันที่ 2 เม.ย. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก

มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง โดยมีฝนร้อยละ 25-35 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 75-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนราธิวาสและนครศรีธรรมราชในวันที่ 4 เม.ย. จังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพรในวันที่ 5 เม.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในวันแรกและวันสุดท้ายของช่วง โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ในระยะต้นและปลายช่วง ส่วนวันอื่นๆ มีฝนร้อยละ 35-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 1 เม.ย.

ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ตราด ยะลา ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ