พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 43/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11-15 เม.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีน้อยในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-15 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง รวมทั้งควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-15 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35 -40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนหรือพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก
ภาคกลาง
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานหากเกษตรกรต้องการปลูกพืชรอบใหม่ ควรเลือกปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออก
ตะวันออก อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอเกษตรกรควรระวังและป้องกันด้วงงวงในมะพร้าว
ระหว่างวันที่ 4-10 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอ่อนกำลังลง ประกอบกับมีลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือในระยะกลางสัปดาห์ กับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะดังกล่าว จากนั้นมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนในวันสุดท้ายของสัปดาห์ นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในตอนเช้าโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไป อย่างไรก็ตามประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ส่วนมากในวันที่ 5-6 เม.ย. และในระยะปลายสัปดาห์ โดยมีฝนบางพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคเหนือ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในตอนเช้าตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอย ส่วนตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในวันที่ 5-6 เม.ย.และในระยะปลายสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 7 และ 9 เม.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 9 เม.ย. และจังหวัดลำปางในวันที่ 10 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้าตลอดสัปดาห์ ส่วนตอนกลางวันมีอากาศร้อนบางพื้นที่ในวันที่ 5 และ 10 เม.ย. ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้าในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในวันที่ 5-6 เม.ย. และในระยะปลายสัปดาห์ กับ โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 9 เม.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้าในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่จนตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในตอนเช้าส่วนมากทางตอนบนของภาค และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 5 และ 7 เม.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนราธิวาส นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพรในระยะต้นและกลางสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในวันที่ 7 และ 10 เม.ย. โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ยะลา ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา