พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 22 - 28 เมษายน พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 48/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตลอดช่วง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 23-28 เม.ย. 65 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานานและระบายความร้อนภายในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิให้แก่สัตว์ รวมทั้งเพิ่มการให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาสม ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-41 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาและเปิดพัดลมระบายความร้อนภายในโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ ป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยเฉพาะพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว และผักกาดหอม เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 23-28 เม.ย. โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อป้องกันผิวไหม้และร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน รวมทั้งเพิ่มการให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาสม ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาและเปิดพัดลมระบายความร้อนภายในโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ ป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดส่งผลให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดน้ำบริเวณหลังคาและเปิดพัดลมระบายความร้อนภายในโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ ป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยเฉพาะพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว และผักกาดหอม ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออก
อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 23-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากตามแนวชายฝั่งทะเล อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน สำหรับในพื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับในช่วงที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก รวมทั้งหนอนเจาะผลทุเรียน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะเข้าไปในเมล็ด กัดกินอยู่ภายในและถ่ายมูลออกมาทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อน ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนเสียหาย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรและโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา ควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งานเพื่อป้องกันไฟลุกลาม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก รวมทั้งหนอนหน้าแมวในปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ระหว่างวันที่ 15 - 21 เมษายน 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในระยะต้นช่วง จากนั้นปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางตอนบนในวันที่ 17 เม.ย. และปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทยในวันสุดท้ายของช่วง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวเกือบตลอดช่วง อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะกลางช่วง นอกจากนี้มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคกลางในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนบางพื้นที่ในระยะต้นช่วงต่อจากนั้นมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคใต้มีลมตะวันตกกำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยในระยะต้นช่วง กับมีลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวในวันที่ 17 เม.ย. จากนั้นมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวในระยะครึ่งหลังของช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกตลอดช่วง
ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันที่ 15,16 และ 18 เม.ย. จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค. โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง
จากนั้นมีฝนร้อยละ 45-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 15 และ 16 เม.ย. จังหวัดเชียงรายและเพชรบูรณ์ในวันที่ 16 เม.ย. จังหวัดกำแพงเพชร พะเยา ลำพูน และพิจิตรในวันที่ 17 เม.ย. จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 17 และ 19 เม.ย. จังหวัดน่านและลำปางในวันที่ 17 และ 20 เม.ย. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 17 และ 21 เม.ย. และจังหวัดตากในวันที่ 18 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกและระยะปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 16-18 และ 21 เม.ย. นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดยโสธรในวันที่15 เม.ย. จังหวัดอุดรธานี สกลนคร มหาสารคาม และชัยภูมิในวันที่ 16 เม.ย. จังหวัดกาฬสินธุ์และนครราชสีมาในวันที่ 18 เม.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 18 เม.ย. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันที่ 16-18 เม.ย. โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18 เม.ย. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีรายงานฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 18-20 เม.ย. นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอ่างทองและสิงห์บุรีในวันที่ 17 เม.ย. จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 17-18 เม.ย. จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดชัยนาทในวันที่ 18 เม.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทั่วไปทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 65-85 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง เว้นแต่ในวันที่ 19-20 เม.ย. มีฝนร้อยละ 20-25 ของ
พื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรีในวันที่ 17 เม.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 18-19 เม.ย. กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 35-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 18, 19 และ 21 เม.ย.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพะเยา อุดรธานี นครราชสีมา อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และระยอง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี ยะลา และ พังงา
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา