พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 50/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน/ จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 1-3 พ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
คำเตือนในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. 65 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- จากสภาพอากาศที่ร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยไฟในพริก ไรแดงในมันสำปะหลัง เป็นต้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 3 พ.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 1 พ.ค. 65 อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-41 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 22-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคและกระบือไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง ขณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้ สำหรับฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. 65 อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 1-3 พ.ค. 65 มีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 3 พ.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับฝนที่ตกและหยุดลับกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ผักในพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว และบรอกโคลี เป็นต้น
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 1-3 พ.ค. 65 มีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ควรผูกยึดค้ำยันกิ่ง และลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโคนล้ม เมื่อมีลมแรง จากสภาพอากาศที่ร้อนและมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคผลเน่าในไม้ผล เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำ หลังจากฝนตก เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกชิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 27-29 เม.ย. 65 มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 27-29 เม.ย. 65 มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ เกษตรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย
ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน 2565 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา