พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 23 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday May 23, 2022 15:37 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 23 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 61/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24-25 พ.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 26-29 พ.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำฉลับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวสำหรับบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24-25 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เช่น ลำไยและลิ้นจี่ เป็นต้น เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียรวมทั้งเปลือกผลไม้กองอยู่ในบริเวณสวนแต่ควรนำไปกำจัดนอกบริเวณแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 26 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่นโคและกระบือ เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 25 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืชและบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานานทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ สำหรับในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 24 - 25 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น รวมทั้งเปลือกผลไม้กองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 24 - 25 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาคลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 24 - 25 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.กระบี่ ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 26 - 29 พ.ค. มีฝน ฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้บางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่น โรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ในยางพารา โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-29 พ.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 16-22 เมษายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ต่อจากนั้นมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบันตอนบนในวันที่ 19-20 พ.ค. จากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวได้เคลื่อนไปปกคลุมบริเวณภาคเหนือในระยะปลายสัปดาห์ อีกทั้งมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันที่ 20 พ.ค. จากนั้นได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 16, 17, 20 และ 21 พ.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และพะเยาในวันที่ 17 พ.ค. จังหวัดพิษณุโลกและเชียงใหม่ในวันที่ 18 พ.ค. จังหวัดตากในวันที่ 19 พ.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 16 พ.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 18 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 17 และ 18 พ.ค. มีฝนร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 17 และ 19 พ.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 16 พ.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 17, 20 และ 21 พ.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 17 พ.ค. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 19 และ 20 พ.ค. มีฝนร้อยละ 50-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 16 และ 18 พ.ค. นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดและนครนายกในวันที่ 16 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 45-75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 18 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และระนอง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา และกระบี่

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ