พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 62/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อม/ ความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
คำเตือนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 ขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ในดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เช่น โรคแอนแทรคโนสในหอมแดงและหอมหัวใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรควรสำรวจและปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น โรครากเน่าและโคนเน่าในมะละกอ และโรคราน้ำค้างในข้าวโพด เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีกควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรติดตั้งแผงกำบังฝนสาด เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝนจนอ่อนแอและจะเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน ควรเสริมขอบบ่อให้มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว จากสภาวะอากาศที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ความชื้นในดินมีมาก เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า และโรคผลเน่าในทุเรียน เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกชิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่
วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรระวังการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
ระหว่างวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2565 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี สระแก้ว และระนอง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา และกระบี่
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา