พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 68/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8 - 13 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้น ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม โดยควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 8 - 13 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 8 - 11 มิ.ย. หลังจากนั้น จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.
- ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่าในมะละกอ ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้ลำต้นเป็นแผลเน่าฉ่ำน้ำ ทำให้ต้นหักและล้มพับ ใบเหลืองหลุดร่วง รากแก้วเน่าเปื่อยและตายในที่สุด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 8 - 11 และ 14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 12 - 13 มิ.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แคนตาลูป แตงร้าน และแตงกวา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง เสียหาย และด้อยคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 8 - 13 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ หลังจากนั้น มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 8 - 13 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ หลังจากนั้น จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในวันที่ 8 - 10 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 11 - 14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในวันที่ 8 - 10 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 11 - 14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในวันที่ 9 - 14 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ระหว่างวันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2565 ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ตรัง และสตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย
อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา