พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday June 17, 2022 13:56 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 17 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 72/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17 - 19 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกีย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม โดยควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง รวมทั้งควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่าในมะละกอ ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้ลำต้นเป็นแผลเน่าฉ่ำน้ำ ทำให้ต้นหักและล้มพับ ใบเหลืองหลุดร่วง รากแก้วเน่าเปื่อยและตายในที่สุด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 20 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แคนตาลูป แตงร้าน และแตงกวา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง เสียหาย และด้อยคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 21 - 23 มิ.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยเฉพาะพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว และผักกาดหอม ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ตะวันออก ในช่วงวันที่ 17 - 19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. จะมีฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง โดยขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17 - 20 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 17 - 20 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 23 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 17 - 19 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดช่วง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นร่องมรสุมดังกล่าวได้เลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศเมียนมาและตอนบนของภาคเหนือโดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนตลอดช่วง โดยเฉพาะในวันที่ 15 มิ.ย. มีฝนตกชุกในเกือบทุกภาค

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดลำปาง น่าน และสุโขทัยในวันที่ 15 มิ.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 15 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 5-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วงและมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 13 มิ.ย. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 10, 13 และ 14 มิ.ย. จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 14 มิ.ย. และจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภูในวันที่ 15 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 12 ,15.และ16 มิ.ย.มีฝนร้อยละ 30-45 ของพื้นที่ กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทในวันที่ 15 มิ.ย.ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12 และ 15 มิ.ย.มีฝนร้อยละ50-60ของพื้นที่และมีฝนหนักบางแห่ง กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 15 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11,12 และ 16 มิ.ย. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วงและมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 14 มิ.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 14 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วงและวันที่ 15 มิ.ย. ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 11, 14 และ 15 มิ.ย. และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง

          ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด พัทลุง และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ น่าน          อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์       ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง และพังงา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ